หมอเด็กอยากบอก

เลี้ยงลูกให้มีทักษะชีวิต...

05 ธ.ค. 2565

คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านที่มีลูก ต่างก็วาดฝันให้ลูกมีชีวิตที่ดีในอนาคต ชีวิตที่ดี ได้รับสิ่งที่เป็นความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยสี่ที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ความมั่นคงทั้งทางกาย ทางใจ หน้าที่การงานหรือทรัพย์สมบัติในอนาคต นอกจากนี้ยังต้องให้แน่ใจว่าลูกได้รับความรัก มีความรักและสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นราบรื่น เลี้ยงดูจนลูกมีความภาคภูมิใจ มั่นใจในตนเอง เผื่อแผ่ความรักให้คนอื่นเป็น จนในที่สุดลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรม และสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้

ในความเป็นจริงเราต่างก็ทราบว่า ชีวิตแต่ละคนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป บ้างก็มีชีวิตแบบต้นร้ายปลายดี บ้างก็มีสะดุดต้นตรง ปลายคด ชีวิตแต่ละคนมีโอกาสพลิกผันได้ตลอดเวลา ลองดู 2 ตัวอย่าง ต่อไปนี้ เป็นต้น

หนูน้อยที่มีชีวิตราวกับเจ้าชายน้อย คุณพ่อคุณแม่รักและดูแลอย่างดี หลังป่วยเป็นโรคเรื้อรังตั้งแต่อนุบาล คุณแม่ต้องทุ่มเวลาในการดูแลลูกที่เข้าๆ ออกๆ นอนรพ.หลายปี คุณพ่อต้องไปทำงานต่างประเทศเพื่อให้มีรายได้พอสำหรับรักษาลูก ความห่างเหินก็ทำให้เกิดความแตกแยกในครอบครัว คุณพ่อมีครอบครัวใหม่ สุดท้ายหนูน้อยก็หมดกำลังใจ อาการของโรครุนแรงขึ้นและจากไปอย่างเศร้าสร้อยในอ้อมกอดคุณแม่โดยไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าคุณพ่ออีกครั้ง

เด็กวัยรุ่นที่ต่อสู้ชีวิตมากับคุณแม่ตามลำพัง หลังจากคุณพ่อทิ้งไปตอน ป.3 คุณแม่ต้องทำงานหนักเพื่อให้มีเงินส่งเสียลูกเรียน ความเหงาและขาดคนช่วยเหลือเรื่องการเรียนทำให้เด็กชายวัยกะเตาะ เริ่มเข้ากลุ่มเพื่อนซิ่งมอเตอร์ไซค์ ลองสูบบุหรี่ กินเหล้า จนวันหนึ่งที่เพื่อนโดนตำรวจไล่จับคดีค้ายาบ้า โดยที่ตนเองไม่รู้เรื่อง เกือบโดนร่างแหและเกือบโดนลูกหลงจากการปะทะและจับกุม ปืนเฉียดศีรษะไปเฉียดฉิว วินาทีนั้นจึงนึกถึงความรักยิ่งใหญ่ของแม่ และกลับตัวมาช่วยแม่ทำงาน เลิกเหล้า บุหรี่ และเลือกคบเพื่อนดีๆ

ลองนึกดูนะคะ ว่าเราจะเลี้ยงลูกในสังคมปัจจุบันอย่างไร ให้ทนต่อวิกฤติการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่ยุ่งยากมากกว่าตัวอย่างที่ยกมาอีกหลายเท่าได้ จนไม่ทำให้เกิดเหตุน่าสลดถึงขนาดที่ทำให้ลูกฆ่าพ่อแม่หรือคนในครอบครัวเหมือนเช่นข่าวดังในปีนี้

คำตอบนี้คือ “การฝึกทักษะชีวิต” ซึ่งหมายถึงความชำนาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่บุคคลสามารถฝึกฝน และสร้างขึ้นได้จากการเรียนรู้ด้วยตนเอง จนกลายเป็นคุณลักษณะภายในที่ช่วยให้บุคคลนั้นเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรู้จักปรับตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในสังคม

ทักษะชีวิตด้านสังคม

ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การปฏิเสธและต่อรอง การแสดงออกอย่างเหมาะสม เป็น ทักษะสำคัญในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ส่วนทักษะชีวิตด้านความคิด ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจ คิดวิเคราะห์ เป็นพื้นฐานในการสร้างทัศนคติความเชื่อและการใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหา

ส่วนทักษะชีวิตด้านการจัดการอารมณ์

ได้แก่การจัดการความเครียด ควบคุมความรู้สึก ความโกรธ ตลอดจนการควบคุมตนเองภายใน เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ฝึกได้อย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่วัยก่อนอนุบาล เห็นได้จากวัยนี้มักอาละวาดบ่อย คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกเด็กให้รับรู้ความโกรธของตนเอง ให้ฝึกใช้คำเรียกอารมณ์นั้น และให้มองว่าอารมณ์สามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ และคนเราสามารถควบคุมความคิดหรือพฤติกรรมที่เกิดจากอารมณ์ได้ อาจลองฝึกวิธีระบายความเครียดแบบต่างๆ ให้เด็ก เช่นการวาดรูป ออกกำลังกาย ทำสวน การสอนเรื่องการจัดการความโกรธนี้ ต้องสอนควบคู่กับจริยธรรม เพื่อให้เด็กมีการยั้งคิด ไม่เผลอไปทำร้ายผู้อื่น

อาจเปรียบทักษะชีวิตเป็นภูมิค้นกันที่จะทำให้มีชีวิตที่เข้มแข็ง ภูมิคุ้มกันของคนเรามีทั้งปัจจัยภายในอันประกอบด้วยทักษะพื้นฐานและทักษะเฉพาะที่ต้องค่อยๆ สร้างตั้งแต่เด็ก เช่นทักษะการช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งต้องฝึกมาตั้งแต่เริ่มวัยเตาะแตะที่พอจะหยิบจับสิ่งของ ตักอาหารเองได้บ้างแล้ว เมื่อเด็กติดขัดสิ่งใดก็ต้องฝึกทักษะการขอความช่วยเหลือ ต้องสอนให้เด็กทราบว่าสถานการณ์ใดที่ควรไปขอความช่วยเหลือ ลักษณะคนที่เด็กควรเข้าไปขอความช่วยเหลือ วิธีใช้คำพูดขอความช่วยเหลือ เช่น เมื่อพลัดหลงกับคุณพ่อคุณแม่ในห้างควรไปที่แผนกประชาสัมพันธ์ ชั้นใดของห้าง (นั่นคือเด็กต้องผ่านการสอนให้สังเกตจุดสังเกตหรือจดจำสัญลักษณ์ในแต่ละชั้นของห้าง)

ภูมิคุ้มกันภายในที่สำคัญอื่นๆ คือ ความเป็นตัวของตัวเองที่อาจแตกต่างจากคนอื่นแต่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโดยไม่ก่อปัญหา เช่น ไม่จำเป็นต้องแต่งตัวหรือบุคลิกเหมือนเพื่อนๆ ขอเพียงแค่เป็นสิ่งที่สังคมยอมรับและให้คุณค่า เช่นแต่งตัวถูกกาลเทศะและสะอาดเรียบร้อย

โดย ผศ.พญ.ปราณี เมืองน้อย จิตเวชเด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก)

แชร์บทความนี้

ร่วมบริจาคให้โครงการ

Angel Miracle ปาฏิหาริย์ต่อลมหายใจ ให้ทารกคลอดก่อนกำหนด

ร่วมบริจาคเพื่อจัดซื้อ “ตู้อบ” ช่วยเหลือทารกคลอดก่อนกำหนด
ยอดบริจาคขณะนี้

9,634,804

จำนวนผู้บริจาค

7,181