ความกลัวของหนูน้อยวัย 2-3 ปี เป็นอาการที่พบได้บ่อยและถือเป็นเรื่องปกติ ฉะนั้นพ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ต้องแปลกใจ หากอยู่ๆ ลูกน้อยที่เคยอารมณ์ดีเมื่อพบเจอผู้คน จะเกาะคุณพ่อคุณแม่แน่นแล้วหลับตาปี๋เมื่อเจอคนแปลกหน้า หรือว่าเมื่อพบสิ่งที่ทำให้เจ้าตัวน้อยเป็นกังวล
ความกลัวในเด็กวัยนี้ เด็กก่อนวัยเรียน คืออายุประมาณ 2-3 ปี จะเริ่มมีจินตนาการสูง ผนวกกับการที่เริ่มรับรู้ว่าตนเอง เป็นอีกชีวิตหนึ่งแยกจากแม่ ทำให้มีความกังวล จริงๆ แล้วความกลัวในเด็กวัยนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ที่ช่วยให้เด็กๆปรับตัวเข้ากับประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังป้องกันหนูน้อยจากอันตรายรอบตัวอีกด้วย ซึ่งหากจะถามว่าเด็กวัยนี้กลัวอะไรบ้าง คงต้องตอบว่าเด็กแต่ละคนก็มีความกลัวต่างกันไป ที่พบบ่อยคือกลัวคนแปลกหน้าและสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย บางรายอาจกลัวเครื่องดูดฝุ่น สุนัข ความมืด เสียงดัง เป็นต้น”
ช่วยลูกรัก รับมือกับความกลัว
สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรตระหนัก อาจไม่ใช่ว่าลูกกลัวอะไร แต่เป็นการช่วยให้ลูกน้อยจัดการอารมณ์ความรู้สึกและรับมือกับความกลัวได้อย่างเหมาะสมต่างหาก
“พ่อม่ผู้ปกครองต้องเข้าใจก่อนว่าความกลัวเป็นธรรมชาติตามวัยของลูก อย่านำเด็กแต่ละคนมาเปรียบเทียบกัน เพราะเด็กทุกคนไม่เหมือนกัน หากบุตรหลานของเรามีความกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่ามองว่าเป็นเรื่องตลกแล้วหัวเราะความกลัวของลูก ในทางกลับกันควรบอกให้เด็กๆ มั่นใจว่า คุณเข้าใจความกลัวของลูก แต่ไม่เป็นไรคุณจะคอยอยู่ข้างๆ เช่น หากลูกไม่ยอมเดินเพราะกลัวสุนัขที่อยู่ข้างทาง คุณไม่ควรพูดว่า ไม่เป็นไร หมาไม่กัดหรอก แต่ควรบอกว่า “แม่เข้าใจว่าลูกกลัว เราจะจูงมือเดินผ่านหมาตัวนั่นด้วยกันนะ หรือถ้าไม่อยากเดินแม่จะอุ้มลูกเดินผ่านไปนะ” วิธีนี้จะทำให้เด็กๆ รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น และเมื่อวันเวลาผ่านไปเขาก็จะเรียนรู้ที่จะรับมือความกลัวได้ดีขึ้น
สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ผู้ปกครองต้องระวังที่จะไม่นำสิ่งที่ลูกกลัวมาขู่ซ้ำๆ เช่น บอกว่า “ถ้าไม่ไปอาบน้ำหมาจะมากัดนะ” หรือ “ไม่ยอมกินข้าวจะจับไปฉีดยา” เพราะนอกจากไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องปล้ว ยังทำให้ระดับความกังวลของลูกเพิ่มขึ้นไปอีก คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง อาจใช้วิธีเล่นกับลูก เพื่อให้เด็กๆ คุ้นเคยกับสถานการณ์ที่เขากลัว เช่น เด็กที่กลัวหมอ ก็ชวนลูกเล่นเป็นหมอกับคนไข้ เด็กที่กลัวความมืด อาจจะลองติดดาวเรืองแสงไว้บนผนังห้อง แล้วอุ้มลูกเข้าไปดู แต่ทั้งนี้ควรค่อยเป็นค่อยไป ไม่บังคับและกดดันเด็ก และเมื่อเวลาผ่านไปลูกจะรับมือกับความกลัวได้ดีขึ้นเองค่ะ”
ข้อมูล ผศ.พญ.ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก)