หมอเด็กอยากบอก

Shaken baby syndrome หรือโรคทารกถูกเขย่า

04 ธ.ค. 2565

รู้หรือไม่ว่า Shaken baby syndrome หรือกลุ่มอาการทารกถูกเขย่า มีเด็กทารกตายจากสาเหตุดังกล่าวมีถึง 1 ใน 3 และอีกร้อยละ 30-40 ที่ไม่สามารถรักษาหายเป็นปกติโดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) มีเด็กที่เข้ารับการรักษาจากอาการทางสมองโดนเขย่ากระทบกระเทือนถึงสมองถึง 10-15 คนต่อปี Shaken baby syndrome หรือกลุ่มอาการทารกถูกเขย่า ทำให้ได้รับบาดเจ็บ เป็นภาวะใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้ทุกครัวเรือน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีบุตรหลานวัยต่ำกว่า 2 ปี หากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู รู้เท่าไม่ถึงการณ์เขย่าตัวลูก ไม่ว่าจะเพราะเล่น หรือโมโหที่ลูกร้องไห้ จนแพทย์ต้องทำการผ่าตัดเปิดกระโหลก ก็อาจทำให้ทารกได้รับบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิตได้

ภาวะ Shaken Baby Syndrome

สาเหตุการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นกับเด็กทารกไว้ว่า “การเขย่าเด็กแรงๆ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มีความเสี่ยงที่จะทำให้เด็ก โดยเฉพาะทารกวัย 3-8 เดือน ได้รับบาดเจ็บทางสมองจนถึงขั้นเสียชีวิต หรือทำให้เด็กพิการตลอดชีวิต เช่นปัญหาทางสายตา ลมชัก การเรียนรู้ และสติปัญญา เนื่องจาก กล้ามเนื้อคอของทารกยังไม่แข็งแรง เมื่อคอและศีรษะถูกเหวี่ยงไปมา โดยการเขย่าจะทำให้เส้นเลือดบริเวณเยื่อหุ้มสมองฉีกขาด เกิดเลือดออกในสมอง การเคลื่อนไหวและกระตุกอย่างรวดเร็ว ทำให้เนื้อสมองได้รับอันตราย และอาจลุกลามไปจนถึงทำให้เส้นเลือดในจอตาขาดได้อีกด้วย แม้อาการบาดเจ็บภายในส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีสัญญาณภายนอกให้พ่อแม่เห็น แต่มีข้อแนะนำให้สังเกตหลังจากลูกถูกเขย่าอาทิ อาเจียน หายใจติดขัด ดูดกลืนน้ำลายไม่ได้ หน้าผากบวม มีเนื้อปูดออกมาที่ศรีษะ ก็ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ โดยต้องแจ้งด้วยว่าเด็กได้รับการเขย่าตัวอย่างรุนแรง เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาทันท่วงที

สาเหตุของการเขย่าทารกส่วนใหญ่

มักเกิดจากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อทารกร้องไห้ไม่หยุด โดยเฉพาะทารก 3 เดือนแรกของชีวิต ที่มักร้องไห้ตลอดเวลา ไม่เว้นกลางวันกลางคืน ความเหนื่อยล้าจากการอดนอน ผนวกกับความเครียดที่เกิดจากเสียงร้องไห้ ก็อาจทำให้พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเผลอเขย่าตัวเด็กแรงๆ หวังจะให้หยุดร้อง โดยที่หารู้ไม่ว่าการเขย่าตัวนั้นอาจทำให้เด็กมีอันตรายถึงชีวิตได้

ไม่เพียงแต่การเขย่าเพื่อให้ลูกหยุดร้องเท่านั้น บางครั้งการเล่นกับเด็กอย่างรุนแรงเกินไป เช่น จับลูกวัยยังไม่ถึงขวบปี โยนขึ้นไปกลางอากาศแล้วรับ ถึงแม้เด็กอาจหัวเราะชอบใจ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้สมองได้รับความบาดเจ็บได้เช่นกัน”

คำแนะนำ

“เรียนรู้วิธีการอุ้มและการปลอบประโลมเด็กที่ถูกต้อง การอุ้มแล้วการไกวตัวอย่างถูกต้อง จะลดความเสี่ยงการเกิดภาวะนี้ได้มาก ไม่ควรเอามือสอดรักแร้ แล้วจับโดยไม่มีการประคองหัวและคอ เพราะจะนำไปสู่ท่าเขย่าได้ในที่สุด”

“หากลูกร้องไห้ไม่หยุดไม่รู้จะทำอย่างไร และคุณเองเริ่มรู้สึกเครียดหรือโมโห ควรขอความช่วยเหลือจากคนอื่นในครอบครัวให้ช่วยดูแลลูกแทนสักพัก หากไม่มีใครช่วยจริงๆ อาจวางลูกในที่ที่ปลอดภัย ที่ลูกจะไม่พลัดตกลงมา แล้วแวบออกนอกห้องไปสูดหายใจลึกๆ สัก 2-3 นาที แล้วค่อยกลับมาเริ่มใหม่”

พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเด็ก ต้องเข้าใจว่าการร้องไห้เป็นธรรมชาติของทารก เป็นการสื่อสาร ที่แม้คุณจะไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร หากแน่ใจว่าลูกกินอิ่ม จับเรอแล้ว ผ้าอ้อมไม่แฉะ ไม่มีเส้นผมเส้นด้ายพันนิ้วมือนิ้วเท้า ไม่มีมดแมลงไต่ตามตัว ก็วางใจได้ว่าสักพักลูกจะหยุดร้องได้เอง ระหว่างนั้น สูดลมหายใจลึกๆ เตือนตัวเองเสมอว่าหากเขย่าตัวลูกรุนแรง ลูกอาจพิการหรือเสียชีวิตได้ ซึ่งไม่คุ้มกันอย่างแน่นอน”

นพ. ประวีณ ธาดาดลทิพย์ แพทย์ศัลยกรรมประสาท สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก)

แชร์บทความนี้

ร่วมบริจาคให้โครงการ

Angel Miracle ปาฏิหาริย์ต่อลมหายใจ ให้ทารกคลอดก่อนกำหนด

ร่วมบริจาคเพื่อจัดซื้อ “ตู้อบ” ช่วยเหลือทารกคลอดก่อนกำหนด
ยอดบริจาคขณะนี้

10,835,763

จำนวนผู้บริจาค

8,077