ปัญหาที่หลายๆบ้านพบเมื่อลูกเล่นมือถือ/แท๊บแล๊ตได้ซักระยะหนึ่ง แล้วพอถึงเวลาที่พ่อแม่จะให้ลูกหยุดเล่น เด็กจะมีอารมณ์หงุดหงิดโมโห และอาจแสดงอารมณ์ออกทางพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว โวยวาย
คำแนะนำจากแพทย์คือ ให้ยอมรับอารมณ์ความรู้สึกของลูก นั่นคือให้พ่อแม่รู้ว่าเป็นเรื่องปกติที่เวลาลูกถูกขัดใจ ลูกๆจะมีอารมณ์โกรธ หงุดหงิด โมโห
แต่สิ่งที่เป็นปัญหาตามมาคือ วิธีที่ลูกแสดงออกถึงอารมณ์ ดังนั้น การสะท้อนความรู้สึกของลูกในขณะนั้น เช่น “แม่รู้ว่าหนูโกรธที่ถูกห้ามเล่น”
จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตนเองและรู้ว่าพ่อแม่เข้าใจตน ซึ่งการรับรู้อารมณ์ของตนเป็นพื้นฐานของการฝึกการจัดการอารมณ์ที่ดี
- สอนวิธีจัดการอารมณ์ที่พ่อแม่ยอมรับเนื่องจากบางครั้งเด็กไม่รู้ว่าการแสดงออกทางอารมณ์แบบไหนที่พ่อแม่ยอมรับ โดย
- มีพ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีของการแสดงออกทางอารมณ์ โดยไม่หงุดหงิด ดุ ว่า ลูก สามารถมีอารมณ์ที่สงบ หนักแน่น ในการสอนลูก
- เมื่อลูกโกรธ พ่อแม่สามารถบอกลูกว่า “ให้หนูหามุมสงบ เมื่ออารมณ์ดีแล้วเราค่อยมาคุยกัน”
- คำสั่งของพ่อแม่ศักดิ์สิทธิ์ นั่นคือ ถ้าถึงเวลาให้หยุดเล่น คือหยุดเล่น ไม่ว่าลูกจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา ลูกก็ไม่ได้เล่นต่อ เพื่อไม่ให้เด็กเรียนรู้ในการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเพื่อให้ได้ตามต้องการ
- ชมเชยลูก เมื่อลูกสามารถหยุดการเล่น และควบคุมอารมณ์ตนเองได้ โดยตัวอย่างการพูดชมเช่น “เก่งมากนะลูก ที่หนูเล่นตามเวลาที่กำหนดได้ หนูเป็นเด็กที่รู้จักเวลา แม่ภูมิใจในตัวลูกนะ”
- เมื่อเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว สิ่งที่พ่อแม่ต้องคอยมอง คือความปลอดภัยของเด็ก โดยห้ามเด็ก ทำร้ายตนเอง ทำร้ายคนอื่นและทำลายข้าวของ
- วิธีที่ช่วยให้อารมณ์ของเด็กไม่รุนแรง คือ ก่อนอนุญาตให้เด็กใช้มือถือ/แท๊บแล๊ต พ่อแม่ต้องกำหนดกฎในการใช้ให้ชัดเจน เช่น เวลาที่ใช้ ลักษณะของการใช้ การเตือนตนเองหรือพ่อแม่เตือนเมื่อใกล้หมดเวลาเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจก่อนจะหยุด วิธีลงโทษเมื่อใช้เกินเวลาที่กำหนดที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ผลของการเล่นเกินเวลา เช่น งดดูทีวี หักค่าขนม หรือทำงานบ้านเพิ่ม เป็นต้น
- หมั่นฝึกวินัยลูกในด้านอื่นๆร่วมด้วย
ข้อมูล พญ.ถิรพร ตั้งจิตติพร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก)