เด็กมักเรียนรู้และพัฒนาบุคลิกภาพโดยการซึมซับจากประสบการณ์ชีวิตผ่านการเลี้ยงดูจากพ่อแม่เป็นส่วนใหญ่ หากลูกมีลักษณะชอบบังคับผู้อื่น ไม่ฟังความเห็นใคร เอาแต่ความคิดเห็นตัวเองเป็นหลัก นั่นอาจหมายถึงเด็กอาจกำลังบ่มเพาะความเผด็จการในตัว แม้จะมีผู้อื่นทำตามทั้งด้วยความกลัวหรือต้องการตัดรำคาญ แต่นั่นก็ไม่สามารถทำให้เด็กเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในอำนาจของตัวเอง จริงๆ แล้วภายในใจของเด็กประเภทนี้กลับอ้างว้าง หงุดหงิด กลัวการถูกปฏิเสธ ไม่มั่นคงทางใจ เครียดตลอดเวลา
คำแนะนำมีอยู่ว่า
หากพ่อแม่เลี้ยงดูลูกด้วยการบังคับควบคุมมาก ไม่รับฟังความคิดเห็นของลูก ไม่ยอมรับการโต้แย้งของลูก ตั้งกฎระเบียบที่เข้มงวดจนเกินไป เมื่อลูกทำผิดมักไม่ผ่อนปรน ไม่ให้โอกาสลูกแก้ไข ตรงข้ามกลับลงโทษหรือดุด่าลูกรุนแรง แต่ไม่ใส่ใจที่จะตอบสนองทางอารมณ์ ไม่แสดงความรัก ไม่ให้ความอบอุ่นแก่ลูกสิ่งที่พ่อแม่กำลังสื่อไปยังลูกคือ ชีวิตไม่ได้เป็นของเราเอง มีแต่การขีดเส้นจากคนอื่น ชีวิตต้องไม่มีการผิดพลาด ลูกจะกลายเป็นคนวิตกกังวล ไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าตัดสินใจเอง ขาดความริเริ่มสร้างสรรค์พยายามแข่งขันกับคนอื่น และอาจทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ตนเองแพ้หรือด้อยคนอื่นแม้จะต้องทำผิดกฎระเบียบก็ตาม
เด็กส่วนใหญ่มักซึมซับรูปแบบการเลี้ยงดูนี้ จนสุดท้ายกลายเป็นบุคลิกภาพของตนเอง เมื่อโตขึ้นอาจประสบความสำเร็จเป็นใหญ่เป็นโตได้ จากที่เป็นคนมีระเบียบแบบแผน แต่ทักษะการจัดการปัญหาหรือการสื่อสารมักไม่เหมาะสม ก้าวร้าว เผด็จการ ไม่ยืดหยุ่นกับลูกน้อง คู่ชีวิต หรือแม้กระทั่งกับลูกของตนเอง เพราะเผลอเข้าใจผิดไปว่าตนเองโตมากับการเลี้ยงดูแบบนี้ก็ประสบความสำเร็จได้ จนลืมพิจารณาไปว่า ตนเองขาดความเชื่อมโยงทางอารมณ์กับคนรอบข้าง ไม่ได้มีความสุขทางใจที่แท้จริง
แนวทางการแก้ไข
ควรสร้างความสมดุลระหว่างการตั้งกฎระเบียบและการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ โดยเปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมในการตั้งกฎระเบียบ หรือเปิดโอกาสให้ลูกเลือกสิ่งต่างๆ เองตามวาระสมควร หากลูกทำผิด ควรเปิดโอกาสให้ลูกชี้แจง สอนลูกโดยไม่ใช้อารมณ์ และต้องหาโอกาสทำกิจกรรมผ่อนคลายด้วยกัน ไม่คาดหวังลูกสูงเกินไป ควรปลอบประโลมลูกในยามที่เขาผิดหวังเสียใจ ไม่ตำหนิดุด่ารุนแรง และช่วยลูกหาหนทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้เรียนรู้ว่าความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องเสียหาย สามารถแก้ไขได้
พญ.ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(โรงพยาบาลเด็ก)