ทำความเข้าใจกับอาการชัก (Seizure)
อาการชัก เกิดจากสมองให้กระแสไฟฟ้าประสาทผิดปกติ ทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น เกร็งกระตุกแบบลมบ้าหมู, เหม่อเรียกไม่รู้สึกตัว ,สะดุ้ง–กระตุก ,พฤติกรรมผิดปกติ ,ล้มตัวอ่อน ถ้าเกิดการชักซ้ำหรือ เกิดหลายครั้ง เรียกภาวะดังกล่าวว่า โรคลมชัก (Epilepsy)
สาเหตุโรคลมชัก
ที่พบได้บ่อย ๆ ในเด็ก คือ กรรมพันธุ์ หรือมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเนื้อสมองหรือเส้นเลือดในสมองตั้งแต่เกิด หรือเกิดรอยโรคในสมองจากการเจ็บป่วย เช่น ไข้สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การบาดเจ็บที่ศีรษะ ส่วนโรคลมชักที่เกิดจากเนื้องอกในสมอง หรือ ภาวะสมองเสื่อมพบได้น้อยมากในเด็ก
ถ้าพบผู้ป่วยขณะชัก อย่าตกใจ ให้ส่งเสียงแจ้งให้คนที่อยู่ใกล้เคียงทราบเพื่อขอความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันให้ดูแลผู้ป่วยดังนี้
- จัดท่าผู้ป่วยนอนลงอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัยไม่ให้ได้รับอันตรายจากการล้มกระแทกกับของแข็งหรือของมีคม ตะแคงตัวและใบหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง
- สังเกตว่าผู้ป่วยหายใจสะดวกหรือไม่ ถ้ามีสิ่งของในปากเช่น เศษอาหาร ให้ล้วงออก ระวังการสำลัก
- ถ้าไม่มีสิ่งของในปาก ห้ามใช้ไม้กดลิ้น นิ้วหรือวัตถุใด ๆ สอดเข้าไปในปากหรืองัดปากผู้ป่วย เพราะอาจจะเกิดอันตรายจากฟันหักตกลงไปอุดหลอดลมได้
- ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักหยุดชักภายในเวลา 2-3 นาทีถ้ายังไม่หยุดชักรีบนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
ถ้าหยุดชักผู้ป่วยมักจะหลับหรือสับสนชั่วครู่ ควรเฝ้าดูแลจนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัวดี ถ้าหยุดชักแล้วกลับมามีอาการชักซ้ำควรพาไปโรงพยาบาล
สำหรับข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันการชัก
และอันตรายที่เกิดจากการชักได้แก่ หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้ชัก เช่น การอดนอน นอนดึก เหนื่อยเพลีย
หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่ปะทะรุนแรง การขี่จักรยาน การปีนที่สูง การว่ายน้ำคนเดียวโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่เริ่มต้นกินยากันชัก จนกว่าจะแน่ใจว่าอาการชักนั้นสามารถควบคุมได้ดี
ผู้ปกครองควรรู้จักชื่อยากันชัก ขนาดยาที่รับประทาน วิธีรับประทาน และให้รับประทานยาสม่ำเสมอทุกวันตามใบสั่งแพทย์ไม่ควรขาดยาเพราะอาจมีการชักที่รุนแรงได้ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ในระยะแรกของการรับประทานยาควรสังเกตผลข้างเคียงหรือการแพ้ยา โดยเฉพาะ ผื่นหรือไข้ ซึ่งเกิดภายในเวลา 1-3 สัปดาห์หลังได้รับยา ถ้ามีอาการดังกล่าวรีบมาพบแพทย์ทันที
ผลข้างเคียงอื่นที่พบได้บ่อย
คืออาการง่วงซึม ก้าวร้าว คลื่นไส้ ถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคลมชักประมาณร้อยละ 80-90 สามารถรักษาและควบคุมการชักได้ด้วยยากันชักและการปฏิบัติตนที่ถูกต้องเหมาะสม เมื่อผู้ป่วยได้รับยากันชักและไม่ชักแล้วประมาณ 2 ปี ผู้ป่วยบางส่วนสามารลดยาและหยุดยากันชักได้โดยไม่มีการชักเกิดขึ้นอีกในผู้ป่วยบางรายอาจจะจำเป็นต้องทานยากันชักตลอดไป
ข้อมูล : นายแพทย์สมจิต ศรีอุดมขจร สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี