CPR (Cardiopulmonary resuscitation)หรือปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ คือการช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้มีการหายใจและการไหลเวียนกลับคืนสู่สภาพเดิม ป้องกันเนื้อเยื่อได้รับอันตรายจากการขาดออกซิเจนอย่างถาวร ซึ่งสามารถทำได้โดยการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (Basic life support) ได้แก่ การผายปอด และการนวดหัวใจภายนอก
ซึ่งสำหรับหนูน้อยขวบปีแรก สาเหตุของการหยุดหายใจส่วนใหญ่มักเกิดจากสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจการสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าหลอดลม เช่น ของเล่นชิ้นเล็ก ๆ หรือเศษอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้การจมน้ำก็อาจเป็นสาเหตุของการหยุดหายใจได้เช่นกัน ทั้งนี้การรู้วิธีทำ CPR อย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ ได้
อย่างไรก็ตาม การศึกษาจากกลุ่มอาสาสมัคร ST JOHN'S AMBULANCEประเทศแคนาดา ได้ทำการสอบถามพ่อแม่ผู้ปกครองพบว่ามีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่รู้และเข้าใจวิธีการทำ CPR ที่ถูกต้อง กรณีที่ลูกหยุดหายใจ ทั้งนี้จากการศึกษา มีพ่อแม่จำนวน 2 ใน 3 ที่รู้วิธีการทำ CPR ในผู้ใหญ่ แต่ไม่รู้ว่าการทำ CPR ในเด็กนั้นแตกต่างกัน เพราะการทำ CPR ในเด็กจะใช้นิ้วมือเพียงสองนิ้วกดไปที่กลางอก ไม่ได้ใช้ทั้งฝ่ามือเหมือนการช่วยชีวิตผู้ใหญ่
การทำ CPR หนูน้อยขวบปีแรก
- เขย่าเรียกชื่อเด็กเบาๆ แล้วสังเกตว่าเด็กส่งเสียงหรือ เคลื่อนไหวหรือไม่
- ถ้าไม่ตอบสนอง ให้ตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ ควรให้อีกคนโทรเรียกรถพยาบาล สายด่วน 1669 ขณะที่มีคนใดคนหนึ่งอยู่ทำ CPR จนครบ 2 นาที
- ยกคางของเด็กขึ้นด้วยมือข้างหนึ่ง ขณะใช้มืออีกข้างผลักศีรษะไปด้านหลัง
- วางหูใกล้กับปากและจมูกของเด็ก สังเกตการเคลื่อนไหวของหน้าอก สังเกตว่าลมหายใจของเด็กสัมผัสที่แก้มของเราหรือไม่
- ถ้าเด็กยังไม่หายใจใช้ปากประกบกับปากของเด็ก หรือปากประกบกับจมูกแต่ต้องให้ปากของเด็กปิดสนิทพยายามยกคางแหงนหน้าขึ้นเป่าปาก 2 ครั้ง โดยที่เป่าปากใช้เวลาประมาณ 2 นาทีและพยายามให้หน้าอกขยาย
- กดหน้าอกวางนิ้ว 2 นิ้วบนหน้าอก ระดับใต้ราวนมให้มืออีกข้างหนึ่งวางบนหน้าผากของเด็ก พยายามให้เด็กหงายหน้าขึ้นกดหน้าอกให้กดลงไประหว่าง 1/3-1/2 ของความลึกของหน้าอกกดหน้าอก 30 ครั้ง กดแต่ละครั้้งต้องเร็วและไม่มีการหยุดนับจนกว่าจะถึง 30
- เป่าปาก 2 ครั้ง ให้หน้าอกขยาย
- ทำซ้ำข้อ 6 กดหน้าอก 30 ครั้งตามด้วยเป่าปาก 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 2นาทีหลัง 2นาที หากเด็กยังไม่หายใจ ไม่ไอ ไม่ขยับ ให้โทรเรียกรถพยาบาลทันที
- ทำซ้ำข้อ 8 จนกว่าเด็กจะฟื้นหรือรถพยาบาลมา
ข้อมูลจาก สถานีดับเพลิงบางเขนสังกัดกองปฏิบัติการดับเพลิง 3 สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร