หมอเด็กอยากบอก

Bullying แกล้งกัน ฝันร้ายวัยเด็ก

06 ธ.ค. 2565

เมื่อพูดถึงการกลั่นแกล้งกัน ผู้ใหญ่อาจคิดว่าเป็นการเล่นกันของเด็กๆ ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร ความจริงแล้วการกลั่นแกล้งไม่ว่าจะอย่างไรย่อมส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้กระทำและผู้ถูกกระทำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งผลกระทบระยะสั้นต่อผู้ถูกกระทำ เช่น เสียความมั่นใจ ไม่อยากเข้าสังคม นอนไม่หลับ ไม่อยากไปโรงเรียน เครียด อาการเจ็บป่วยที่เกิดจากจิตใจ เช่น ปวดท้อง ปวดหัวปวดกล้าม ฯ หากไม่ได้รับการแก้ไข อาจส่งผลในระยะยาวทำให้ผู้ถูกแกล้งมีอาการโรคซึมเศร้า มีแนวโน้มทำร้ายตัวเอง ใช้สารเสพติด ร่างกายอ่อนแอ มีปัญหาในการเข้าสังคม กลายเป็นคนไม่ไว้ใจโลกส่งผลต่อความสัมพันธ์ต่างๆ ในชีวิต

ในส่วนของตัวผู้กระทำเอง การกลั่นแกล้งผู้อื่น อาจส่งผลกระทบในระยะสั้น เช่นทำให้ขาดเรียนเพราะโดนทำโทษหรือหลีกหนีความผิด มีปัญหาการเข้าสังคม เพิ่มความเสี่ยงการใช้สารเสพติด และหากไม่ได้รับการแก้ไขพฤติกรรมอาจส่งผลระยะยาวเช่น ทำร้ายร่างกายคู่สมรสหรือบุตร มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม ติดสารเสพติด อาจเรียนไม่สำเร็จการศึกษาและไม่ถูกจ้างงาน

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญที่ทำให้ปัญหาการกลั่นแกล้งกันไม่ได้รับการแก้ไขส่วนใหญ่เป็นเพราะ เด็กๆ ที่ถูกกลั่นแกล้ง มักจะไม่บอกพ่อแม่ตรงๆ แต่อาจพูดทำนองว่า “ไม่อยากไปโรงเรียน” หรืออาจมีอาการเจ็บป่วยบ่อย เพื่อทำให้ไม่ต้องไปเรียน เด็กบางรายอาจเริ่มทำร้ายตัวเอง หรือสำหรับเด็กผู้ชายที่ถูกล้อว่าเป็นเกย์หรือเบี่ยงเบน ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม เด็กๆ กลุ่มนี้มักกลัวการเข้าห้องน้ำที่โรงเรียนเพราะอาจถูกดักล้อเลียนหรือกลั่นแกล้ง เมื่อกลับถึงบ้านจึงรีบวิ่งเข้าห้องน้ำทันทีเป็นสิ่งแรก หากพ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตและพบว่าลูกมีพฤติกรรมดังกล่าวบ่อยครั้ง ก็อาจเป็นไปได้ว่าลูกกำลังกลายเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งเข้าแล้ว

หากผู้ปกครองค่อนข้างมั่นใจว่าลูกกำลังตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้ง ควรหาเวลาเหมาะๆ นั่งคุยกับลูก ถามไถ่ว่าชีวิตช่วงนี้เป็นอย่างไร มีอะไรอยากเล่าให้พ่อแม่ฟังหรือไม่ ในครอบครัวที่พ่อแม่ใกล้ชิดกับลูก พูดคุยกันเป็นประจำ ลูกมักเล่าออกมาได้ไม่ยาก หน้าที่ของพ่อแม่คือฟังอย่างตั้งใจ หลีกเลี่ยงคำพูดประมาณว่า “ไปทำอะไรถึงโดนเขาแกล้ง” เพราะจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกแย่ว่าตนเองเป็นสาเหตุของเรื่องทั้งหมด หรือการบอกว่า “เด็กคนนั้นนิสัยแย่มากๆ” การตัดสินโดยนำตัวเองเข้าไปแทนความรู้สึกลูกก็ไม่ช่วยให้ปัญหาดีขึ้นเช่นกัน พ่อแม่ควรถามว่า “เกิดอะไรขึ้นบ้าง และสิ่งที่เกิดขึ้นลูกรู้สึกอย่างไร”

ในกรณีที่ลูกไม่ยอมเล่าให้พ่อแม่ฟัง คุณอาจต้องทำใจและตระหนักว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือความปลอดภัยของลูก ลองหาใครสักคนที่ลูกสนิทและไว้ใจ อาจเป็นคุณอา คุณน้า หรือญาติที่ลูกสนิทที่สุดและคุณก็ไว้ใจเขาได้ ให้เป็นตัวแทนพูดคุยกับลูก

เมื่อรู้เรื่องราวทั้งหมดแล้ว แทนที่จะไปฟ้องครูหรือเดินเข้าไปเผชิญหน้ากับคนที่แกล้งลูกด้วยตัวเอง ซึ่งอาจจะทำให้ลูกไม่กล้าเล่าอะไรให้คุณฟังอีกต่อไป พ่อแม่หรือใครก็ตามที่คุยกับเด็กควรถามว่า “ลูกคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี” ให้ลูกได้ลองเสนอความคิดเห็น หากลูกบอกว่า ถ้าถูกแกล้งอีกจะบอกว่า “อย่ามายุ่งกับฉันนะไอ้บ้า!”

หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ คือทำให้ลูกเห็นว่าจะเกิดอะไรต่อจากการตอบโต้เช่นนั้น คุณอาจถามลูกต่อไปว่า “ถ้าลูกพูดไปอย่างนั้นคิดว่าจะเกิดอะไรตามมา” ให้ลูกได้ฝึกคิดรอบด้านว่าการตอบโต้ด้วยคำพูดที่รุนแรงไม่ได้แก้ปัญหาแต่อาจทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น สิ

สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ควรทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาสามารถคิดหาทางแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง เพราะการถูกแกล้งก็ทำให้สูญเสียความมั่นใจมากพออยู่แล้ว การที่ลูกรู้สึกว่าเขาสามารถรับมือสถานการณ์ได้โดยมีพ่อแม่คอยให้กำลังใจ จะช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของลูกได้มาก

เรื่องแกล้งกันของเด็กๆ อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ในความเป็นจริงหากปล่อยไว้ก็มักกลายเป็นปัญหาเรื้อรังส่งผลต่อจิตใจร่างกายและกลายเป็นปัญหาสังคมตามมา พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ทุกคนในสังคมจึงจำเป็นต้องช่วยกันสอดส่องดูแลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาเพราะเมื่อปล่อยให้ปมในจิตใจเกิดขึ้นแล้วก็ยากที่จะแก้ไขให้กลับมาเหมือนเดิมได้

ผศ.พญ.ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก)

แชร์บทความนี้

ร่วมบริจาคให้โครงการ

Angel Miracle ปาฏิหาริย์ต่อลมหายใจ ให้ทารกคลอดก่อนกำหนด

ร่วมบริจาคเพื่อจัดซื้อ “ตู้อบ” ช่วยเหลือทารกคลอดก่อนกำหนด
ยอดบริจาคขณะนี้

10,622,886

จำนวนผู้บริจาค

8,015