หมอเด็กอยากบอก

ก่อน Time out พ่อแม่อย่างเราต้อง Time in

06 ธ.ค. 2565

ขว้างปาข้าวของ เพราะไม่ยอมเก็บของเล่น คุณพ่อคุณแม่แต่ละบ้านก็อาจจะมีวิธีรับมือแตกต่างกันไป ซึ่งวิธีหนึ่งที่นิยมกันก็คือ การ time out หรือขอเวลานอก แยกลูกออกมา เพื่อให้สงบสติอารมณ์

อย่างไรก็ตามหลายบ้านอาจพยายามใช้วิธี time out แต่ดูเหมือนว่ากลับไม่ได้ผล เจ้าตัวน้อยแผลงฤทธิ์หนักกว่าเดิมหลายเท่าแม้จะถูกทำโทษด้วย time out ไปแล้ว เป็นเพราะอะไร และการ Time out ให้ได้ผล ต้องทำอย่างไร

Time out จริงๆ แล้วไม่อยากให้เรียกว่าเป็นการทำโทษ แต่ควรเรียกว่าเป็นการปรับพฤติกรรม คือ เมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่ผู้ใหญ่ห้ามแล้ว เบี่ยงเบนความสนใจแล้ว ก็ยังทำอยู่ ก็อาจใช้การ time out คือ แยกเด็กออกจากสถานการณ์นั้นๆ ไปสงบสติอารมณ์ เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักจัดการอารมณ์ของตัวเอง

เมื่อก่อนนี้อาจเคยได้ยินมาว่าระยะเวลา Time out แต่ละครั้งคือเท่ากับอายุเด็ก เช่น 2 ขวบก็ 2 นาที 5 ขวบ ก็ 5 นาที

แต่งานวิจัยจากต่างประเทศล่าสุดพบว่าวิธีนี้อาจไม่ได้ผลเสมอไป เพราะการ time out ไม่ใช่การลงโทษแต่เป็นการปรับพฤติกรรมให้เด็กสงบตัวเอง ดังนั้น หากเด็กๆ สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองให้สงบลงได้ก่อนเวลาที่กำหนด ก็ควรจะหยุดการ time out และกล่าวชมลูกที่จัดการอารมณ์ตัวเองได้สำเร็จด้วย

นอกจากนี้ การ time out จะได้ผลดี ก็ต่อเมื่อพ่อแม่มีการ time-in กับลูกอย่างสม่ำเสมอ time-in ในที่นี้ก็คือ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก ให้แรงเสริมทางบวก กล่าวชมเมื่อลูกทำดี หมั่นสังเกตเห็นสิ่งดีๆ ที่ลูกทำ ไม่ใช่เห็นแต่สิ่งผิด เอาแต่ตำหนิและสั่งให้ลูกไป time out เพราะหากเป็นเช่นนี้ ลูกก็จะยิ่งทำแต่พฤติกรรมที่ไม่ดี เพราะทำแล้วพ่อแม่สนใจ ถึงแม่จะเป็นคำตำหนิ แต่ลูกก็จะรู้สึกว่าเรียกร้องความสนใจได้สำเร็จ ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง

สำหรับการใช้วิธี time out กับเด็กก่อนวัยเรียน อายุ 2-3 ปี ควรเลือกใช้คำสั่งที่สั้นกระชับเข้าใจง่ายเช่น “หยุด ไปนั่งพัก ไม่ตีน้อง น้องเจ็บ” การอธิบายเหตุผลยาวๆ กับเด็กวัยนี้อาจไม่ได้ผลนัก เมื่อลูกนั่งพักสงบลงแล้ว ควรชวนลูกกลับมาทำกิจกรรมได้ตามปกติ

สำหรับหนูน้อยวัยเรียน4-5 ปีขึ้นไป นอกจากการใช้ time out ที่อาจทำให้เด็กๆ รู้สึกอับอาย และรู้สึกไม่ได้รับการยอมรับ พ่อแม่อาจลองใช้วิธี คุยกับลูกเพื่อให้เขาได้ไตร่ตรองสิ่งที่ทำ เช่น เมื่อลูกผลักน้องล้มลง อาจจะเรียกลูกมาแล้วถามว่า “กฎของการเล่นกันคืออะไร” “มีวิธีอื่นไหมที่ทำได้โดยไม่ต้องผลักน้อง” วิธีนี้จะทำให้เด็กๆ ได้ฝึกคิดว่าแทนที่จะทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม เขายังมีทางเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่าที่สามารถทำได้”

ท้ายที่สุดแล้ว สายสัมพันธ์ที่ดีเท่านั้นที่จะช่วยให้ลูกๆ ยอมรับและเชื่อตามคำสอนของเราได้ ดังนั้นแม้จะ time out กี่ร้อยครั้ง แต่หากพ่อแม่ไม่เคย time in หรือมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกเลย การปรับพฤติกรรมก็ยากที่จะสำเร็จได้

ข้อมูล พญ.ถิรพร ตั้งจิตติพร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก)

แชร์บทความนี้

ร่วมบริจาคให้โครงการ

Angel Miracle ปาฏิหาริย์ต่อลมหายใจ ให้ทารกคลอดก่อนกำหนด

ร่วมบริจาคเพื่อจัดซื้อ “ตู้อบ” ช่วยเหลือทารกคลอดก่อนกำหนด
ยอดบริจาคขณะนี้

9,306,262

จำนวนผู้บริจาค

6,872