จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลก จนส่งผลกระทบรุนแรงกว่าหลายๆ การระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอดีต นอกเหนือไปจากความรวดเร็วในการแพร่กระจายของเชื้อ ความรุนแรงของโรค ได้ส่งผลกระทบในด้านสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของทุกคนในครอบครัว ไม่ว่าจะผู้ใหญ่หรือเด็ก ต่างได้รับบทเรียนในปรากฎการณ์ครั้งนี้
ความหวาดกลัว ความตื่นตระหนก และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือระบบการจัดการกับภาวะวิกฤต ที่โถมเข้ามารวดเร็วแทบไม่ทันตั้งรับ การดูแลรับมือวันต่อวันเพื่อประคองให้ผ่านพันก่อให้เกิดประสบการณ์ บทเรียนอันมีค่า สู่ความท้าทายต่อการจัดบริการทางการแพทย์เพื่อลดการสูญเสีย อีกทั้งเพื่อพัฒนาสถาบันสุขภาพเด็กฯ ให้เป็นที่พึ่งของพ่อแม่ที่มีลูกเจ็บป่วย ให้มีความพร้อมในการรับมือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในเด็ก ที่มีอาการติดเชื้อรุนแรงและโรคติดเชื้ออื่น ๆ อาทิ โควิด-19 วัณโรค หัด หัดเยอรมัน อีสุกอีใส ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก หรือ โรคติดเชื้อดื้อยาในเด็ก
โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยเด็ก ต้องมีระบบการบริการซึ่งมีรายละเอียดและความยุ่งยากซับซ้อนที่แตกต่างจากการดูแลผู้ใหญ่ อีกทั้ง ทารกและเด็กเล็กจะไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจรักษา
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ โรงพยาบาลเด็ก มีพันธกิจ (หรือหน้าที่) ในการดูแลรักษาเด็กป่วย จึงต้องใช้บุคลากรที่มีความชำนาญในการดูแลเด็ก การใช้เครื่องมือหรือนวัตกรรมต่างๆ ที่ออกแบบมาสำหรับการดูแลผู้ป่วยผู้ใหญ่จึงมีข้อจำกัดในการนำมาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยเด็ก ส่งผลให้ต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์เป็นจำนวนมากกว่าในการดูแลผู้ป่วยเด็กเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่
จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมี ระบบบริการที่สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อรุนแรงและโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่ได้มาตรฐานระดับประเทศ